
เรื่อง : บีเซลบับ ภาพ : รอยเตอร์ส/เอเอฟพี
จารีตในการอยู่ร่วมกันแบบไทยไทยคือ “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน 3 ชุมชนหลักที่อยู่ร่วมกันมานานช้า หากระยะหลังบริบทสังคมเพี้ยนผิดไปมาก 40 พลัสชวนคิดชวนคุยว่าทำไม และจะกลับมาอยู่ร่วมกันให้เป็นสุขแบบสังคมไทยในอดีตได้อย่างไร
ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์ อาจารย์พิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นักวิชาการและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (สบท.) ขอมองในมุมของพุทธศาสน์ผ่านงานวิจัย “รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุเกี่ยวกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและจิตวิทยาเชิงบวก ที่มีต่อสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธของชุมชนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร”
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หากปัจจุบันการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปจากงานวิจัยพบว่า 30-40% ของคนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมต้องการใช้ชีวิตอยู่โดดเดี่ยวลำพังตัวเอง”
สังคมเมืองในปัจจุบันคือภาพความเป็นพหุวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ผู้คนอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและความเชื่อ รวมทั้งการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่จากอายุที่แตกต่าง หากโจทย์ที่แท้จริงคือไลฟ์สไตล์การอยู่อย่างแปลกแยก
สาเหตุคือสภาพการเลี้ยงดูและการหล่อหลอมในวัยเยาว์ ที่พ่อแม่ยุคใหม่เลี้ยงดูลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือการสื่อสารยุคใหม่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาในอาณาจักรส่วนตัว ต่างคนต่างแยกกันใช้ชีวิตของตัวเอง แม้กระทั่งสังคมครอบครัวก็ยังคุยกันน้อยหรือแทบจะไม่คุยกันเลย อยู่บนถนนในรถ (ติด) 4 ชั่วโมงเช้า-เย็น และอยู่กับตัวเอง 8 ชั่วโมง/วัน
“แนวโน้มการใช้ชีวิตที่แปลกแยกกับบุคคลแปลกหน้าสูงขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่สังคมอีกแบบหนึ่ง”
ดร.อัครนันท์ อริยศรีพงษ์
สังคมชุมชนทุกวันนี้ต่างคนต่างพึ่งพาตนเอง สมาชิกในสังคมต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นธรรมชาติของคนในสังคมเมืองที่ไม่สนใจโลกรอบตัว ไม่สนใจคนรอบข้าง เพื่อนบ้านหรือเพื่อนในชุมชนกลายเป็นอากาศธาตุ ต่อให้นั่งอยู่ข้างกัน โดยสารลิฟต์ด้วยกัน หรือมีฝาบ้านติดกัน ก็สบายใจมากกว่าที่จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน
ความสุขแบบสังคมไทยในอดีตตอบด้วยงานวิจัยว่า สภาพแวดล้อมและจิตวิทยาเชิงบวกมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์รวมแนวพุทธ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ให้มีความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมทางพุทธศาสนา
“คนกลาง ที่จะยึดโยงสังคมชุมชนเข้าหากัน ละลายพฤติกรรมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ ผมมองไปที่ผู้จัดการโครงการนิติบุคคล หรือหัวหน้าชุมชน”
แนวทางคือการพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ สังคม และปัญญา เพื่อสร้างรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน กิจกรรมต้องก่อให้เกิดคุณลักษณะด้านบวก ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการของชุมชนนั้น ๆ
ผลวิจัยสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ระบุว่า การไปทำบุญตามเทศกาลหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมต่างจังหวัดบ้าง เป็นการช่วยเติมพลังชีวิต จิตใจสงบ ลดความฟุ้งซ่าน ลดความโกรธ ไม่หงุดหงิดกับสิ่งกระทบ